หนทางสู่ความสงบระงับ

หนทางสู่ความสงบระงับ






          ศีล สมาธิ ปัญญานั้น ถ้าหากพูดกันตามลักษณะตามความเป็นจริงแล้ว ก็ยังไม่ใช่แก่นศาสนาหรือตัวศาสนา แต่เป็นหนทางนำไปสู่ตัวศาสนา ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า ศีล สมาธิปัญญา ทั้งสามอย่างนี้ว่า "มรรค" อันแปลว่า "หนทาง" ตัวศาสนาคือ "ความสงบระงับอันเกิดจากความรู้เท่าในความเป็นจริง...ในธรรมชาติของความเป็นจริงที่เกิดอยู่เป็นอยู่ ซึ่งถ้าได้นำมาพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้ว ก็จะเห็นว่าความสงบนั้นไม่ใช่ทั้งความสุขและความทุกข์ ฉะนั้น สุขและทุกข์จึงไม่ใช่เป็นของจริง

          พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้ตัวเอง ให้เห็นตนเอง ให้พิจารณาตัวเอง เพื่อให้เห็นจิตของตนเอง ความจริง "จิตเดิม"ของมนุษย์นั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่หวั่นไหว เป็นธรรมชาติที่ทรงอยู่แน่นอน อยู่อย่างนั้น แต่ที่มีความดีใจ เสียใจ หรือความทุกข์ความสุขเกิดขึ้นนั้น เพราะขณะนั้นมันไปหลงอยู่ในอารมณ์ จึงเป็นเหตุให้เคลื่อนไหวไปมา แล้วก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น

          สมเด็จพระบรมศาสดาท่านตรัสสอนไว้แล้วทุกอย่าง ในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ แต่พวกเราทั้งหลาย ยังไม่ได้ปฏิบัติกันหรือไม่ก็ปฏิบัติแต่ปากเท่านั้น หลักของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่การจะมาพูดกันเฉยๆหรือด้วยการเดา หรือการคิดเอาเอง หลักของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงคือ ความรู้เท่าความจริง ตามความเป็นจริงนั่นเอง ถ้ารู้เท่าตามความเป็นจริงนี้แล้วการสอนก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่รู้ถึงความเป็นจริงอันนี้ แม้จะฟังคำสอนเท่าใดก็เหมือนกับไม่ได้ฟัง

          พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์เป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น แต่ไม่สามารถจะทำแทนหรือปฏิบัติแทนได้ เพราะธรรมชาติทั้งหลาย หรือความจริงอันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาเอง ปฏิบัติเอง คำสอนต่างๆเป็นเพียงแนวทาง หรืออุปมาอุปไมย เพื่อนำให้เข้าถึงความรู้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้เท่าตามความเป็นจริงเราก็จะเป็นทุกข์ เหมือนดังตัวอย่างว่า เรามักใช้คำว่า "สังขาร" เมื่อเราพูดถึงร่างกาย แต่ความจริงนั้น เราหารู้จัก "ความเป็นจริง" ของสังขารนี้ไม่ แล้วเราก็ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับ "สังขาร"นี้ ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับสังขารหรือร่างกายของเรานี้ เราจึงเป็นทุกข์ หรือความทุกข์จึงเกิดขึ้น

          จะยกตัวอย่างให้เห็นสักอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราเดินไปทำงาน ระหว่างทางก็มีบุรุษผู้หนึ่งคอยต่อว่าเราอยู่เป็นประจำ ตอนเช้าก็ด่า ตอนเย็นก็ด่า เมื่อได้ยินคำด่าเช่นนี้ จิตใจก็หวั่นไหว ไม่สบายใจ โกรธ น้อยใจ เศร้าหมอง บุรุษผู้นั้นก็เพียรด่าเช้าด่าเย็นอยู่เช่นนั้นทุกวัน ได้ยินคำด่าเมื่อใด ก็โกรธเมื่อนั้น กลับถึงบ้านแล้วก็ยังโกรธอยู่ ที่โกรธที่หวั่นไหวเช่นนี้ก็เพราะความไม่รู้จักนั่นเอง

          วันหนึ่ง เพื่อนบ้านก็มาบอกว่า "ลุงคนที่มาด่าลุงทุกเช้าทุกเย็นนั้นนะ เป็นคนบ้า เป็นบ้ามาหลายปีแล้ว มันด่าคนทุกคนแหละ ชาวบ้านเขาไม่ถือมันหรอก เพราะมันเป็นบ้า" พอรู้อย่างนี้แล้ว ใจของเราก็คลายความโกรธทันที ความโกรธความขุ่นมัวที่เก็บไว้หลายวันแล้วนั้น ก็คลายหายไป เพราะอะไร? ก็เพราะได้รู้ความจริงแล้ว แต่ก่อนนั้นไม่รู้ เข้าใจว่าเป็นคนดี คนปกติ ฉะนั้นพอได้ยินว่าเป็นคนบ้า จิตก็เปลี่ยนเป็นสบาย ทีนี้มันอยากจะด่าก็ให้ด่าไป ไม่โกรธ ไม่เป็นทุกข์เพราะรู้เสียแล้วว่าเป็นคนบ้า นี่..ที่จิตใจสบายก็เพราะรู้เท่าทันความจริงนั่นเอง เมื่อมันรู้เอง มันก็วางของมันเอง ถ้ายังไม่รู้มันก็ยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง อีกเหมือนกัน แต่พอรู้ความเป็นจริง จิตใจก็สบายนี่แหละคือความรู้เท่าตามความเป็นจริง คือรู้ว่าคนนั้นเป็นบ้า

คนผู้รู้ธรรมก็เหมือนกันพอรู้จริงความโลภ ความโกรธความหลงก็หายไป เพราะรู้เท่าทันความเป็นจริง



ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.